บทความนี้เป็นประสบการณ์จากคุณ Marcus Blankenship ที่ได้สัมภาษณ์พนักงานคนหนึ่งชื่อ Jamie ซึ่งตอนนั้นเขาเป็นคนไอทีที่ดูกระตือรือร้น, ทักษะด้าน Technical ดีเยี่ยม, มีไอเดียดีๆ เกี่ยวกับ Process & Product Improvement แถมมีทัศนคติดีเลิศอีกด้วย แต่ผ่านไป 2 ปี Jamie กลับกลายเป็นคนละคนคือ “อยาก Coding แค่เพียงอย่างเดียว” สาเหตุเกิดจากอะไร ติดตามได้จากบทความนี้ครับ
จากประเด็นที่เกิดขึ้น ทำให้คุณ Markus สังเกต Jamie มากขึ้น และพบว่าที่ผ่านมา Jamie เป็นคนไม่ค่อยพูดมากนัก, ไม่ค่อยมีส่วนร่วมนำเสนอไอเดียด้าน Process หรือ Product เหมือนอย่างที่คิดไว้ และความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานก็ดูจะไม่ค่อยดีสักเท่าไร Jamie มักบ่นถึงปัญหาด้านเทคนิค การขาดนวัตกรรมและการตัดสินใจ “โง่ๆ” ที่ทำให้ธุรกิจไม่ก้าวหน้าสักที และประโยคที่ว่า “เห็นมั้ย ผมบอกแล้ว” ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกด้านลบต่อ Jamie ขึ้นไปอีก Markus คิดว่าตอนนี้ Jamie อาจกำลังคิดในใจเรื่อง “ลาออก” แต่ Markus ก็คงพูดอะไรไม่ได้(ทั้งที่อยากพูด) เพราะตอนนี้บริษัทกำลังขาดคนทำงานและยังต้องการให้งานยังเดินต่อได้ ณ ตอนนี้ก็คือ ต้องปล่อยให้ Jamie ก็ทำงานของเขาไปน่ะสิ
สภาพแวดล้อมมีอิทธิพลต่อคนคนนั้น
หัวหน้างาน/Manager หลายคนคิดว่า ปัญหาเกิดจากตัว Jamie เอง ถ้า Jamie เป็นพนักงานที่ดีกว่านี้ ทุ่มเทในการทำงาน หรืออย่างน้อยก็แคร์คนอื่นบ้าง ปัญหาก็คงจะไม่เกิด จริงไหม? คำตอบคือ ไม่ใช่ การที่ Programmer คนหนึ่งที่เคยกระตือรือร้น กลับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แม้ไม่ได้เกิดขึ้นภายในชั่วข้ามคืน แต่มันก็เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คุณคิด
ความคิดเห็น/ไอเดียแรก เป็นสิ่งสำคัญมาก
วิธีจัดการกับไอเดียของ Programmer ที่เข้ามาใหม่ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะดีหรือแย่ มันก็เป็นตัวกำหนดว่า ต่อไปพวกเขาจะแสดงความเห็นออกมาอีก หรือ จะปิดปากเงียบตลอดไป แน่นอนว่า ณ ตอนนี้ไอเดียบางอย่างอาจไม่เหมาะหรือเป็นไปไม่ได้ในสภาพแวดล้อมของทีมหรือบริษัท แต่อาจนำไอเดียนั้นมาพิจารณาในภายหลังก็ได้ บางที พวกเขาอาจมีไอเดียที่ดีมาก แต่ดันอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คนในทีม “ไม่อยากออกความเห็น”
การละเลยและไม่เห็นคุณค่าของไอเดียจาก Programmer โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 เดือนแรก ถือเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ดีเลย ยิ่งพวกเขาพยายามเสนอไอเดียใหม่ๆ เรื่อยๆ แต่ก็ถูกละเลยอยู่เสมอ ยิ่งเป็นการย้ำให้พวกเขาคิดว่า “สิ่งที่ดีที่สุดคือการอยู่เฉยๆ” ซึ่งผลลัพธ์คือ พวกเขาจะหยุดเสนอไอเดียใหม่ๆ ไม่อยากไปพบลูกค้า และไม่อยากเรียนรู้/ทำความเข้าใจในธุรกิจของคุณอีกต่อไปแล้ว
ไอเดียยิ่งล้ำเท่าไร ก็ยิ่งมีความเสี่ยง
โปรดรู้ไว้ว่า Programmer กำลังพูดในสิ่งที่ “เสี่ยง” ในขณะที่กำลังเสนอไอเดีย ยิ่งไอเดียแปลกใหม่เท่าไร ก็ยิ่งมีความเสี่ยง ทำไมน่ะเหรอ ก็เพราะไอเดียของเรา มันสะท้อนถึงตัวตน มุมมอง และ Passion ของเราไงล่ะ เราคงจะไม่เสนอไอเดียที่เราไม่สนใจ หรือไอเดียที่มันไม่ Work หรอกจริงไหม เมื่อคนเราเสนอไอเดียที่ดีที่สุด เราก็หวังว่า อยากมีคนรับฟังแค่นั้นเอง ถ้าเราเสนอไอเดียแต่ไม่มีใครรับฟังเลย ต่อไปเราก็เลิกเสนอไอเดียซะ ก็แค่นั้น
Feedback ของไอเดียจะส่งผลต่อพฤติกรรม
โดยธรรมชาติ เมื่อ Programmer มีเรื่องให้ทำน้อยลง สิ่งที่พวกเขาคิดว่าจะทำสำเร็จได้ ก็คือ “การ Coding” ทำให้ความกระตือรือร้นในการคิดสิ่งที่สร้างสรรค์ และการพัฒนาเรื่องต่างๆ มันหายไป ซึ่งอาจส่งผลไปถึงคุณภาพของ Code ที่เขียนด้วย จากที่พวกเขาเคยคิดถึงเรื่องที่เกินหน้าที่หลักอย่าง Market Share หรือสภาพของธุรกิจ กลับกลายเป็นคิดถึงแต่เรื่องของตัวเอง กังวลแต่เรื่องตำแหน่ง-ค่าจ้าง จากที่เคยคิดที่จะสร้างสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลก จะกลายเป็นมาคิดเล็กคิดน้อยในเรื่องตัวเองเพียงอย่างเดียว
คุณดูแลพนักงานใหม่อย่างไร
หลายๆ เรื่อง บางทีก็ไม่ได้ผ่านการสอนหรือการพูดคุย แต่ลักษณะการดูแล การปฏิบัติ หรือวัฒนธรรมบางอย่าง ก็เป็นตัวบอกพนักงานว่าพวกเขาควรคิดหรือทำอย่างไร เช่น
“บริษัท ของเราไม่ชอบคนคิดใหญ่ๆ จากคนตำแหน่งเล็กๆ”
“คุณเพียงแค่สร้างสิ่งที่คุณควรทำไป ส่วนเราจะหาเองว่าลูกค้าต้องการอะไร”
“คุณ ก็เป็นแค่ Programmer มือใหม่ยังไม่มีประสบการณ์”
“อืม … ทำไมคุณถึงถามคำถามมากมายนัก คุณไม่มี Code ให้เขียนเหรอ? ”
วัฒนาธรรมที่แท้จริงเป็นอย่างไร
วัฒนธรรม ไม่ใช่คำขวัญที่แปะไว้บนผนัง หรือคำอธิบาย Mission ของคุณในระหว่างการสัมภาษณ์งาน แต่ วัฒนธรรม เป็นวิถี/แนวทางที่ผู้คนทำกัน และเป็นสิ่งที่พวกเขาใส่ใจกับมันจริงๆ (อาจหมายรวมถึง รูปแบบการใช้ชีวิต ความเชื่อ พฤติกรรม และสัญลักษณ์ที่ทุกคนในกลุ่มยอมรับ ผ่านการสื่อสารและทำต่อๆ กันมา จากรุ่นสู่รุ่นด้วย) ถ้าคุณกำลังสงสัยว่า วัฒนธรรมของหน่วยงานคุณเป็นอย่างไร ก็ลองดูพฤติกรรมคนในทีมดูสิ ถ้าคุณไม่ชอบสิ่งที่เห็นก็เปลี่ยนมันซะ วัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่ถูกกำหนดไว้ แต่มันคือ การเรียนรู้ การเป็นต้นแบบ และการทำตามๆ กันมา ถ้าคุณเป็นผู้นำ นี่คืองานที่ต้องให้ความสำคัญกับมัน เพราะวัฒนธรรมที่เป็นอยู่ไมได้เกิดจากความผิดของ Jamie แต่เป็นของทีมเองทั้ง Team Leads, Software Managers และ CTO ดังนั้น เลิกตำหนิ Jamie ซะ แล้วเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมให้เป็นในแบบที่ต้องการ อีกไม่นานมันก็จะดีขึ้นเอง
ISM Technology Recruitment Ltd. (#1 Tech Recruiter in Thailand) เราเชี่ยวชาญในธุรกิจ IT Recruitment & IT Outsourcing โดยเฉพาะ เปิดทำการกว่า 25 ปี มีพนักงานทุกสายและทุกระดับทางด้าน IT ที่ได้ร่วมงานกับลูกค้าองค์กรใหญ่ที่มีชื่อเสียงและบริษัทข้ามชาติมากมาย หากคุณเป็นคน IT ที่อยากทำงานท้าทายและร่วมงานกับองค์กรชั้นนำ สามารถฝากประวัติการทำงาน (Resume) ของคุณไว้กับ ISM ได้ที่ https://www.ismtech.net/submit-your-resume แล้วคุณจะพบว่าอนาคตและโอกาสก้าวหน้ากำลังรอคุณอยู่
Source: https://hackernoon.com/