#1 tech recruiter in thailand

จะเขียน Code ให้ดีได้อย่างไร ภายใต้ภาวะกดดัน

การเป็น Programmer ที่ดีไม่เพียงแต่การมีทักษะในการ Code ที่ยอดเยี่ยมเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการที่รู้จักตั้งสติ และคิดบวก แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่กดดัน คำถามสำคัญคือ แล้วจะเขียน Code ให้ดีได้อย่างไร เมื่ออยู่ภายใต้ภาวะกดดัน ดังนั้นมาหาคำตอบกันว่า Programmer ที่ดี เขามีแนวทางในการจัดการกับสถานการณ์ที่มีความกดดัน อย่างไรบ้าง

อย่ายึดมั่นกับคำมั่นสัญญาที่คุณไม่ได้สร้างขึ้นเองมากจนเกินไป

ในฐานะ Programmer คุณมี 2 ทางเลือกเสมอ คือ “คำมั่นสัญญา” กับ “ความกลัว”

คำมั่นสัญญาของคุณ ก็คือ วันและเวลาที่คุณให้คำมั่นว่าจะทำงานนั้นๆ ให้เสร็จ และเมื่อคุณให้คำสัญญาไปแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดที่คุณมี ก็คือคำพูด และ ความน่าเชื่อถือของคุณ คุณต้องทำให้มันเกิดขึ้นมาจริงๆ เพราะ มันจะทำให้คุณได้รับความเคารพจากคนอื่น

คุณจะรู้สึกกลัว เมื่อมีคนอื่นให้คำมั่นสัญญาในนามของคุณ ซึ่งมันมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นจริงๆ บางครั้งคำมั่นสัญญาก็เกิดขึ้นกับเราอันเนื่องจากธุรกิจ/บริษัทของเรา ได้ไปสัญญากับลูกค้าโดยที่ไม่ปรึกษาเราก่อน แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องไปผูกติดในการที่จะยอมรับคำมั่นสัญญาเหล่านั้นมากเกินไป

คนที่เป็นมืออาชีพ มักจะช่วยเหลือธุรกิจในการค้นหาวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของพวกเขา แต่มืออาชีพเอง ก็ไม่จำเป็นต้องแบกรับภาระผูกพันที่เกิดขึ้นผ่านการทำธุรกิจ/บริษัท เพราะสุดท้ายแล้วถ้าเราไม่สามารถหาหนทางที่จะสามารถทำตามสัญญาที่เกิดขึ้นจากธุรกิจแล้ว คนที่เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ก็คือคนที่ให้คำมั่นสัญญานั้น

นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แรงกดดันย่อมเกิดขึ้นกับทุกคนเมื่อไม่สามารถทำตามข้อผูกพันได้ แต่อย่างน้อย ถ้าคุณเป็นมืออาชีพมากพอ คุณจะยังรู้สึกภาคภูมิใจและยืนหยัดอยู่ได้ และถ้าหากไม่มีใครเต็มใจที่จะทำความเข้าใจในมุมมองของคุณ นั่นก็อาจถึงเวลาแล้วที่คุณควรจะหาที่ทำงานที่เหมาะสมกว่า

อย่าทำอะไรแบบลวกๆ

อย่าเขียน Code แบบลวกๆ หรือแค่ผ่านๆ พอเป็นพิธี และอย่าทำอะไรแค่พอผ่าน หรือยอมรับในสิ่งที่ “ด้อยคุณภาพ”

การทดสอบที่แท้จริงว่า คุณเป็น Programmer ที่ดีหรือไม่ มักจะวัดกันตอนช่วงภาวะวิกฤติ หากความคิดหรือการกระทำของคุณเปลี่ยนแปลงไปในช่วงที่ต้องเผชิญภาวะวิกฤต ก็แสดงว่า คุณอาจยังไม่ใช่ Programmer ที่ดี ตัวอย่างเช่น หากคุณทำตามกฏระเบียบของ Test Driven Development ในช่วงที่ไม่เกิดวิกฤติ แต่กลับละเลยหรือไม่ทำมันในช่วงที่เกิดวิกฤต นั่นหมายถึง คุณไม่เชื่อถือว่า TDD นั้นมีประโยชน์จริง ๆ

หากในช่วงเวลาปกติ คุณเป็นคนที่ทำให้ Code ของคุณ Clean อยู่เสมอ แต่พออยู่ในช่วงภาวะวิกฤต กลับทำ Code ยุ่งเหยิง นั่นหมายถึง คุณไม่เชื่อว่าความยุ่งเหยิงใน Code เหล่านั้น จะทำให้คุณทำงานช้าลงในอนาคต

อย่าละเลยแม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่าเลิกทำในสิ่งที่แม้จะต้องใช้พยายามเพิ่มขึ้น (ซึ่งอาจจะใช้เวลาไม่นาน) เพราะนั่นอาจเป็นการส่งมอบงานที่ดีที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ มันไม่สำคัญว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร แต่สิ่งสำคัญคือคุณคิดเกี่ยวกับตนเองอย่างไรมากกว่า โปรดจำไว้เสมอว่า การทำอะไรแบบลวกๆ ผ่านๆ ผลของมันอาจจะตามหลอกหลอนคุณ ไม่เร็วๆ นี้ก็ในอนาคต

Programmer มืออาชีพ ไม่เคยใช้เส้นทางลัดที่เน้นเอาง่ายไว้ก่อน หรือเขียน Code ที่ยุ่งเหยิงเพื่อจะได้ให้งานเสร็จเร็วๆ แต่พวกเขาจะทำงานอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ออกมาดีที่สุดเช่นกัน

สื่อสาร, สื่อสาร และ สื่อสาร

ในประเด็นนี้มันเกี่ยวกับเรื่องของการสื่อสารกัน ความซื่อสัตย์ การปฏิบัติต่อผู้คนในองค์กรว่า ทุกคนควรจะรู้ข้อเท็จจริงร่วมกัน อย่าบอกพวกเขาแค่ครึ่งๆ กลางๆ หรือปกปิดความจริงไว้ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือ ต้องสื่อสาร สื่อสาร และ สื่อสาร…

หากคุณมีข้อมูลที่สำคัญมาก ที่จำเป็นต้องบอกกับเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ Vendor ก็ตาม ก็ควรรีบทำโดยเร็วที่สุด แม้ว่าจะไม่ใช่ข่าวดีก็ตาม หากคุณรีรอที่จะให้ข้อมูลทั้งที่สามารถแก้ไขได้ก่อนจะสายเกินไปแล้ว ข่าวสารของคุณก็จะไม่ถูกส่งต่อและมันก็จะเป็นข่าวสารที่ไม่มีความหมายใดๆ อีกต่อไป

ในแทบจะทุกสถานการณ์ การสื่อสารที่รวดเร็วจะเป็นประโยชน์กับตัวคุณเองด้วย มันช่วยให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าใจและแยกแยะข้อมูล วางแผนที่เหมาะสมเพื่อตอบสนองต่อข้อมูลนั้นๆ ได้ โดยเฉพาะหากเป็นข่าวร้าย การได้รับเตือนล่วงหน้าอาจช่วยให้มีการวางแผนที่เพียงพอเพื่อลดความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดได้

เหนือสิ่งอื่นใด ความเป็นมืออาชีพ สุภาพ ตรงไปตรงมา และชัดเจน ถือเป็นคุณสมบัติที่จะทำให้การสื่อสารของคุณ ไปในทิศทางที่ถูกต้องในช่วงที่คุณทำงานอยู่

ขอความช่วยเหลือเมื่อคุณไม่สามารถจัดการเองได้

หากคุณมีปัญหาในงานที่ทำ ก็จับคู่กับเพื่อนร่วมงานสักคนที่เขายินดีช่วยเหลือคุณ เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการเขียน Program มันจะช่วยให้คุณทำงานได้เร็วขึ้นโดยเกิดข้อบกพร่องน้อยลง การทำงานคู่กันจะช่วยในเรื่องการมีวินัยในการทำงาน และไม่ตื่นตระหนกเมื่อเกิดปัญหา

เวลาที่ใช้ในการ Develop อย่างรวดเร็วของการทำงานเป็นคู่ มักมาจากการ Focus เพิ่มขึ้น การจับคู่ทำงานที่ดี คือการมีอีกคนที่ช่วยเฝ้าคอยระวังและตักเตือนกัน การทำงานลักษณะนี้มีแนวโน้มที่จะถูกรบกวนจากการขัดจังหวะได้น้อยกว่า (เช่น การ Check email, ทำในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน หรือการจ้องมองหน้าจออย่างว่างเปล่าเป็นเวลาหลายนาที)

นอกจากนี้ ยังครอบคลุมถึงงานรองด้วย คนหนึ่งอาจทำงานโดยเขียน Code เป็นหลัก ส่วนอีกคนก็ช่วยดูในเรื่อง Readability, Testability, Robustness, User Upgrade Migration ภาพรวมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Code จะว่าไปแล้ว การทำงานกันเป็นคู่ จะเกิดแรงกดดันในทางบวกต่อการทำงานด้วย

ในช่วงการปรับตัวจากการเขียน Code คนเดียวไปจนถึงการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ นั้น ก็เปรียบเหมือนการกินพริกนั่นแหละ เพราะครั้งแรกที่คุณกินคุณอาจไม่ชอบมัน แต่พอคุณกินบ่อยๆ ก็จะเริ่มชินกับมัน เมื่อนั้นคุณอาจจะชอบมันหรือกินเผ็ดได้อย่างไม่มีปัญหา

และที่สำคัญที่สุด มันดปป็นการสร้าง Culture ในเรื่องความร่วมมือและซาบซึ้งในความช่วยเหลือของผู้อื่น ครั้งต่อไปเมื่อคุณเห็นคนอื่นที่อยู่ภายใต้ความกดดัน ก็ลองเสนอตัวเองทำงานจับคู่กับพวกเขาดูบ้าง เพื่อช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากความกดดันที่แบกรับอยู่ อย่างที่ Booker T. Washington ได้กล่าวได้ว่า “ถ้าคุณต้องการยกตัวคุณให้สูงขึ้น ก็ให้ยกคนอื่นขึ้นมาด้วย”

ISM Technology Recruitment Ltd. (#1 Tech Recruiter in Thailand) เราเชี่ยวชาญในธุรกิจ IT Recruitment & IT Outsourcing โดยเฉพาะ เปิดทำการกว่า 28 ปี มีพนักงานทุกสายและทุกระดับทางด้าน IT ที่ได้ร่วมงานกับลูกค้าองค์กรใหญ่ที่มีชื่อเสียงและบริษัทข้ามชาติมากมาย หากคุณเป็นคน IT ที่อยากทำงานท้าทายและร่วมงานกับองค์กรชั้นนำ สามารถฝากประวัติการทำงาน (Resume) ของคุณไว้กับ ISM ได้ที่ https://www.ismtech.net/submit-your-resume แล้วคุณจะพบว่าอนาคตและโอกาสก้าวหน้ากำลังรอคุณอยู่

Source:  https://blog.hassler.ec/

th