#1 tech recruiter in thailand

เป็นลูกน้องที่เก่ง ใช่ว่าจะเป็นหัวหน้าที่ Success เสมอไป

เชื่อว่าคงมีคนไอทีหลายๆ ท่าน ที่เริ่มเติบโตในสายอาชีพ เริ่มเป็นหัวหน้าคน และ มีลูกน้องในทีม แต่ก็มีหัวหน้างานส่วนหนึ่ง ที่ตอนเป็นลูกน้องถือว่าเป็นคนเก่งมีความสามารถมากๆ แต่พอเป็นหัวหน้า กลับทำได้ไม่ดีเหมือนตอนเป็นลูกน้อง มันเพราะสาเหตุใดบ้าง วันนี้ทีมงานไอเอสเอ็ม ขอสรุปสาเหตุหลักๆ พร้อมแนวทางแก้ปัญหา ดังนี้ครับ

1. รู้สึกยังไม่พร้อม ยังไม่อยากเป็นหัวหน้างาน

ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่สุด หากคุณรู้สึกไม่พร้อมที่จะเป็นหัวหน้าใคร แต่ต้องเป็น “ด้วยความจำเป็น”แบบนี้มีโอกาสประสบสำเร็จน้อยมาก เพราะนอกจากคุณจะไม่มีความสุขในการทำงานแล้ว เชื่อว่าผลงานที่ออกมาก็น่าจะไม่ค่อยดีด้วยถึงแม้ว่าตอนเป็นลูกน้องคุณจะเก่งมากแค่ไหนก็ตาม ใครที่ตกอยู่ในสถานการณ์นี้ก็น่าเห็นใจ แต่ในเมื่อจะต้องเป็น โดยเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

ทางแก้ปัญหา: หากปรึกษากับผู้บริหาร หรือ HR แล้วถึงความไม่พร้อมของคุณ แต่สุดท้ายคุณก็ต้องเป็นหัวหน้าอยู่ดี คุณก็ควรทำใจยอมรับและหาข้อดีของมันให้ได้ คิดซะว่าจะได้เติบโตขึ้น จะได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ถึงจะไม่พร้อมแต่ก็ค่อยๆ เรียนรู้กันไป แบบนี้น่าจะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นและพร้อมที่จะเป็นหัวหน้าที่ดีในอนาคตได้

2. ขาดทักษะในเรื่องการบริหาร “คน”

ตอนเป็นระดับ Junior คุณแค่รับผิดชอบแต่งานของตัวเองเป็นหลัก ไม่ต้องวุ่นวายกับคนอื่นๆ เท่าไรนัก แต่พอขึ้นเป็นหัวหน้า คุณต้องคอยบริหารจัดการทุกสิ่งทุกอย่างทั้งงานและลูกทีม ต้องมองที่ภาพใหญ่และเป้าหมายของแผนกก่อนเสมอ แต่ปัญหาของคนไอทีหลายคนที่ไม่เก่งเรื่อง “คน” เช่น สั่งงานให้ Code Program แต่ลูกน้องบางคนไม่ทำ คุณก็ไม่รู้จะตำหนิแบบไหน หากลูกน้องมีนิสัยขี้น้อยใจ ลูกน้องไม่ค่อยชอบพูด ลูกน้องขี้เหวี่ยง จะต้อง deal ในลักษณะใดถึงยังสามารถทำงานด้วยกันได้ นอกจากลูกน้องแล้ว คุณยังต้องมีผู้บริหารระดับสูง ที่ต้องทำงานด้วยอีก ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องใช้ทักษะเรื่อง “คน” ทั้งสิ้น

ทางแก้ปัญหา: ต้องวิเคราะห์ตัวเอง ถ้ารู้ว่าขาดทักษะเรื่องคน ก็ต้องหาทางเรียนรู้ ไม่ว่าจะจากประสบการณ์คนอื่น หาหนังสืออ่านหรือไปเข้าคอร์ส Training ก็ตาม เรื่องแบบนี้บางคนก็มีทักษะโดยที่ไม่ต้องสอน แต่หากคุณไม่มีพรสวรรค์เรื่องแบบนี้ ก็ต้องศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติมเอา

3. ไม่มั่นใจในความสามารถตัวเอง

ตอนยังไม่ได้เป็นหัวหน้า คุณมีความรู้ในงานของตำแหน่งตัวเอง เช่น เป็น Android Mobile Dev. ก็รู้แค่ Scope ของงานที่เรารับผิดชอบ หากคุณไม่รู้เรื่อง iOS ก็อาจไม่เป็นไร แต่พอคุณเป็นหัวหน้าแล้ว คุณต้องรู้ให้ครอบคลุมในเนื้องานของลูกน้องทุกๆ คน ทั้ง Android ทั้ง iOS เป็นต้น ต้องรู้ว่าลูกน้องแต่ละคนต้องทำอะไรบ้าง ต้องรู้อะไรบ้าง หรือหากคุณไม่รู้ก็จำเป็นต้องขวนขวายให้รู้จนได้ เพราะหากเกิดปัญหาติดขัดคุณจะได้ช่วยแก้ปัญหา และให้คำแนะนำลูกน้องได้ หากคุณมีความรู้มากเพียงพอคุณก็จะมั่นใจขึ้นเอง

ทางแก้ปัญหา: คุณต้องเชื่อมั่นในความสามารถตัวเองก่อนว่าคุณมีคุณสมบัติพอ หากยังไม่แน่ใจคุณใช้วิธีคุยกับลูกทีมทีละคนว่าพวกเขาต้องทำงานอะไรบ้าง พวกเขาต้องใช้ทักษะใดบ้างในการทำงาน เพื่อคุณจะได้รู้ครอบคลุมทั้งหมด อีกอย่างหนึ่ง ถือเป็นโอกาสที่จะได้คุยเปิดใจ จะได้รู้ว่า พวกเขาคิดอะไร มีปัญหาอะไร ต้องการเพิ่มเติมทักษะใดอีกบ้าง เป็นต้น

4. ขาดทักษะ Leadership และ EQ

Leadership ถือเป็นทักษะพื้นฐานของการเป็นหัวหน้างาน ใครไม่มีทักษะนี้ ก็ยากที่จะทำงานอย่างราบรื่น เพราะคุณจะต้อง เป็นผู้นำทีม ต้องกล้าตัดสินใจในจังหวะที่เหมาะสม ต้องมีความยุติธรรม ตรงไปตรงมา และมีความรับผิดชอบสูงมาก นอกจากนี้ยังต้องมี EQ สูงด้วยเช่นกัน ตอนเป็นลูกน้อง คุณอาจไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไรนัก แต่พอเป็นหัวหน้า EQ ถือเป็นสิ่งที่คุณต้องโฟกัสให้มาก พอๆ กับเรื่องงานเลยทีเดียว เพราะปัญหาทุกอย่างมันจะประดังมาที่คุณเป็นหลัก ลองคิดดูหากลูกน้องติดปัญหา แต่มาถามจังหวะที่คุณยุ่งๆ เครียดๆ แล้วคุณดันไปตวาดใส่ คิดว่าเขาจะชอบและนับถือคุณไหม

ทางแก้ปัญหา: ทักษะผู้นำก็สามารถเรียนรู้และศึกษาเพิ่มเติมได้เช่นเดียวกับหัวข้ออื่นๆ ส่วนเรื่อง EQ คุณต้องมีสติให้มากๆ คิดก่อนจะพูดหรือทำอะไรออกไป เพราะมันมีผลต่อลูกน้องในทีมอย่างมาก บางทีการมีธรรมะในใจก็ช่วยทำให้คุณมี EQ ที่ดีขึ้นได้เช่นกัน

5. องค์กรไม่ได้ช่วยเตรียมความพร้อมให้

หากองค์กรใด มีระบบการพัฒนาบุคลากรที่ดี เชื่อว่าปัญหาต่างๆ จะลดลงเป็นอย่างมาก เพราะ ผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น HR หรือผู้บริหาร ก็ต้องทำการบ้านกันก่อน ตั้งแต่การสรรหาคนที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้างาน ต้องพิจารณาทักษะพื้นฐานที่จำเป็น และเตรียมความพร้อมโดยการให้ความรู้ความเข้าใจ ปรับแนวคิด วิธีคิดต่างๆ หรือพัฒนาทักษะที่ยังขาดอยู่ ก่อนที่จะให้บุคคลนั้นก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้างานได้ ในทางตรงกันข้าม หากองค์กรไม่มีนโยบายเรื่องนี้ก็อาจทำให้ได้หัวหน้างานที่ยังไม่พร้อม อาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ทั้งในระดับแผนก จนกระทบถึงองค์กรเลยทีเดียว

ทางแก้ปัญหา: ลองเข้าไปขอคำปรึกษาจากผู้บริหารที่เป็นหัวหน้างานโดยตรงของคุณหรือคุยกับทาง HR ดูว่า คุณอยากเพิ่มทักษะเรื่องใด ทางองค์กรจะช่วยสนับสนุนเราได้มากน้อยแค่ไหน หากเรามีทักษะเรื่องนี้ขึ้นแล้ว จะทำให้ Productivity และ Efficiency ในแผนกจะดีขึ้นอย่างไร และส่งผลดีต่อองค์กรอย่างไรบ้าง เชื่อว่าทางผู้บริหารหรือ HR ได้ยินเช่นนี้ น่าจะสนับสนุนคุณ ในขณะเดียวกันคุณก็ควรต้องทำให้ดีขึ้น ให้สมกับที่องค์กรสนับสนุนด้วย

คนไอทีที่อ่านบทความนี้แล้ว หลายๆ ท่านอาจจะกำลังรู้สึกว่า เราก็เป็นแบบนี้ หรืออาจกังวลว่าวันหนึ่ง หากเป็นหัวหน้าขึ้นมา อาจจะมีปัญหาแบบนี้ ก็ลองฝึกทักษะการเป็นหัวหน้าดู เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวก่อน เช่น เรื่อง Leadership ก็ลองอาสาเป็น Leader ทำโน่นทำนี่ในแผนกดู ส่วนเรื่อง EQ หากคุณเครียดหรือมีใครทำอะไรให้ไม่พอใจก็ลองดูว่า จัดการความเครียด ควบคุมอารมณ์โกรธได้ไหม เป็นต้น ส่วนพวกเนื้องานในแผนกก็ลองสอบถามจากเพื่อนๆ ในทีมดูว่า พวกเขาทำอะไรบ้าง Scope งานเป็นอย่างไรบ้าง ก็ลองศึกษาดู การทำแบบนี้ถือเป็นการเตรียมพร้อมให้ตัวเองก่อนจะก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในอนาคตได้

ISM Technology Recruitment Ltd. (#1 Tech Recruiter in Thailand) บริษัทเราเชี่ยวชาญในธุรกิจ IT Recruitment & IT Outsourcing โดยเฉพาะ เปิดทำการกว่า 25 ปี มีพนักงานทุกสายและทุกระดับทางด้าน IT ที่ได้ร่วมงานกับลูกค้าองค์กรใหญ่ที่มีชื่อเสียงและบริษัทข้ามชาติมากมาย หากคุณเป็นคน IT ที่อยากทำงานที่ท้าทายและร่วมงานกับองค์กรชั้นนำ ฝากประวัติการทำงาน (Resume) ของคุณไว้กับ ISM ได้ที่ https://www.ismtech.net/submit-your-resume แล้วคุณจะพบว่าอนาคตและโอกาสก้าวหน้ามากมายกำลังรอคุณอยู่

th