#1 tech recruiter in thailand

สถานการณ์(แย่ๆ) ที่คนไอที(อาจ)เจอ หลังแจ้ง “ลาออก”

คุณยังจำภาพตอนเพิ่งเริ่มงานวันแรกๆ ได้ไหม ที่คนในแผนกจะมุ่งความสนใจมาที่เรา เข้ามาทำความรู้จักเรา แต่พอเราแจ้งลาออกเท่านั้นแหละ สถานการณ์กลับเริ่มเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทำให้ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของพนักงานที่แจ้งลาออก กลายเป็นช่วงเวลาที่สร้างความอึดอัด และ ลำบากใจอยู่ไม่น้อย สำหรับคนไอทีที่ไม่ต้องเจอสถานการณ์แย่ๆ แบบนี้ก็ถือว่า โชคดีไป แต่คนไหนโชคร้ายอาจต้องเสียความรู้สึกไปช่วงหนึ่ง จนถึงขั้นไม่อยากไปทำงานในวันที่เหลืออีกเลย วันนี้เรามีดูสถานการณ์(แย่ๆ) ที่คนไอที(อาจ)เจอ หลังจากแจ้ง “ลาออก”

1. หัวหน้าให้งานเยอะกว่าปกติ/ไม่แจกจ่ายงานให้อีกเลย

ในฐานะคนทำงาน ส่วนใหญ่น่าจะคิดว่า “หัวหน้า” เป็นบุคคลที่เราสามารถพึ่งพาได้ เป็นคนที่มีผลต่อหน้าที่การงานและอนาคตของเรา ตอนทำงานกันถึงแม้จะมีความไม่เข้าใจ หรือไม่พอใจกันบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังสามารถร่วมงานกันได้ แต่สำหรับ หัวหน้า(บางคน) แล้ว เมื่อทราบว่าลูกน้องตัวเองยื่นเรื่องขอลาออกกลับมีท่าทีที่เปลี่ยนไปเป็นคนละคน อันที่จริงก็พอเข้าใจได้ว่า เมื่อมีคนลาออก มันก็ต้องมีความวุ่นวายอยู่บ้าง ไม่ว่าจะต้องรีบหาคนใหม่มาแทน งานอาจมีการสะดุดในช่วงเปลี่ยนถ่ายไปบ้าง เพราะในงานไอทีใช่ว่าคนมาใหม่จะทำแทนได้ในทันที อย่างน้อยก็ต้องมาศึกษางานที่คนก่อนหน้าทำไว้ก่อน ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ถือเป็นความรับผิดชอบของหัวหน้างาน ที่จะต้องจัดการและแก้ไขปัญหา ด้วยเหตุนี้อาจทำให้หัวหน้า(บางคน) เกิดความรู้สึกที่เปลี่ยนไปต่อลูกน้องที่กำลังจะลาออก พอเกิดความรู้สึกที่ไม่พอใจก็เลย “รีบใช้งานซะให้เต็มที่” ก่อนที่ลูกน้องจะลาออกซะเลย ไหนๆ เอ็งจะออกแล้ว ข้าขอใช้งานให้คุ้ม ข้อหาที่ทำให้ต้องวุ่นวายหาคนใหม่มาทดแทน ไหนจะต้องเทรนงาน ปรับจูนการทำการงานกันใหม่อีก ในขณะที่หัวหน้างานบางคนก็ใช้วิธีการปล่อยให้ลูกน้อง “รู้สึกโดดเดี่ยวและไร้ค่า” ด้วยการ “ให้อยู่เฉยๆ แตะงานให้อีกเลย” หรือหาเรื่องตำหนิ ว่ากล่าว ดุด่า กรณีแบบนี้ทำให้ลูกน้องหลายคนรู้สึกทุกข์ใจ เสียใจ รู้สึกถูกลดคุณค่าจนไม่อยากมาทำงานในวันที่เหลืออยู่ แต่ใครเจอแบบนี้ ก็คงอยากจะออกซะเดี๋ยวนั้นเลยแน่นอน

2. เพื่อนร่วมงานเปลี่ยนไป/เมินเฉย/นินทากระทบกระเทียบ

พอคนไอทีแจ้งลาออก เชื่อว่าช่วงแรกๆ คงจะเจอแต่ทำถามว่า “ลาออกทำไม” “ไปทำที่ไหน” “อย่าไปเลยนะ” “ถ้าไปแล้วใครจะมาทำงานนี้แทน” ฯลฯ แต่ก็อาจมีเพื่อนร่วมงานบางคน ที่รู้สึกว่าตัวเองคงจะได้รับผลกระทบจากการลาออกของเพื่อน เช่น ต้องทำงานเพิ่มขึ้นในระหว่างที่รอพนักงานคนใหม่มารับช่วงแทน หรือรู้สึกอิจฉาที่เพื่อนได้งานใหม่แต่ตัวเองยังไปไหนไม่ได้ ซึ่งพอเริ่มเกิดความรู้สึกไม่ดี ก็เลยทำให้การแสดงออกเริ่มเปลี่ยนไป เช่น จากที่เคยสนิทสนมก็เริ่มเมินเฉย ไม่พูดจากันเหมือนเดิม หรือ เลวร้ายสุดคือ พูดถึงเพื่อนที่จะลาออกไปในทางที่ไม่ดี นินทาลับหลัง พูดจาว่าร้าย กระทบกระเทียบ ซึ่งถือเป็นช่วงวัดใจในมิตรภาพ เลยว่า ที่ผ่านมาเป็นเพื่อนเป็นเพื่อนที่จริงใจกันมากแค่ไหน

3. ให้ออกเลยทันที ไม่ต้องมาทำงานอีกแล้ว

ข้อนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่คนไอที(รวมทั้งคนในสายอาชีพอื่น) หลายๆ คนเจอ ซึ่งในช่วงการยื่นใบลาออก คนส่วนใหญ่ก็มักจะแจ้งกันในช่วงปลายๆ เดือนแล้วอยู่เคลียร์งานให้ต่ออีก 1 เดือน ตามกฏระเบียบบริษัทหรือตามมารยาทก็แล้วแต่ แต่พอพนักงานแจ้งหัวหน้าหรือฝ่าย HR เพื่อยื่นใบลาออกปุ๊บ วันรุ่งขึ้นหัวหน้าหรือฝ่าย HR (บางคน) ก็เดินมาบอกเลยว่า ให้ทำงานถึงแค่สิ้นเดือนนี้พอ เป็นใครเจอแบบนี้ก็ “จุกเข้าไปถึงทรวง” น่ะสิคร๊าบ ไอ้เราก็อยากให้จากกันด้วยดี ขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุดก่อนจะไป แต่พอเจอหัวหน้าหรือบริษัท ทำแบบนี้กับเราก็เสียความรู้สึกไปมากพอสมควร แต่ถ้ามองในแง่ดีคือ จะได้หลุดพ้นจากสิ่งแวดล้อมแย่ๆ แบบนี้เร็วๆ ไงล่ะ

สำหรับบทความนี้ไม่ได้มุ่งจะตำหนิคนที่เป็นหัวหน้า, HR, บริษัท หรือเพื่อนร่วมงาน เพราะหัวหน้างาน, HR หรือ บริษัทที่ดีๆ ก็มีเยอะแยะไป เพียงแต่ทีมงานต้องการนำเสนอว่า ในโลกของการทำงานจริง มันอาจมีเหตุการณ์แบบนี้ที่อาจทำให้เรารู้สึกแย่หรือท้อใจ แต่ถ้าเรามีดีซะอย่าง ตั้งใจทำงาน ทำหน้าที่ของเรา รับผิดชอบงานอย่างเต็มที่เสมอมา เชื่อว่า เหตุการณ์ร้ายๆ เหล่านั้น คงทำลายความดีของเราได้ยาก สำหรับใครที่เจอเหตุการณ์คล้ายในบทความนี้ ก็ขอให้คุณมองอีกมุมคือ “ดีเหมือนกัน จะได้ฝึกความอดทน ได้เห็นจิตใจที่แท้จริงของคนอื่น” เพื่อวันข้างหน้าคุณจะได้ Strong และพร้อมรับกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดยังไงล่ะ

ISM Technology Recruitment Ltd. (#1 Tech Recruiter in Thailand) บริษัทเราเชี่ยวชาญในธุรกิจ IT Recruitment & IT Outsourcing โดยเฉพาะ เปิดทำการย่างเข้าสู่ปีที่ 27 มีพนักงานทุกสายและทุกระดับทางด้าน IT ที่ได้ร่วมงานกับลูกค้าองค์กรใหญ่ที่มีชื่อเสียงและบริษัทข้ามชาติมากมาย หากคุณเป็นคน IT ที่อยากทำงานที่ท้าทายและร่วมงานกับองค์กรชั้นนำ ฝากประวัติการทำงาน (Resume) ของคุณไว้กับ ISM ได้ที่ https://www.ismtech.net/submit-your-resume แล้วคุณจะพบว่าอนาคตและโอกาสก้าวหน้ามากมายกำลังรอคุณอยู่

th