“เรซูเม่” เปรียบเสมือนอาวุธทางการตลาดที่ใช้เพื่อนำเสนอทักษะและประสบการณ์ของคุณให้โดดเด่นกว่าคู่แข่ง และสอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง ดังนั้น ก่อนที่คุณจะเริ่มเขียนเรซูเม่ทุกครั้งลองสมมติว่า ถ้าตัวคุณเองเป็นสินค้าชิ้นหนึ่ง และบริษัทที่คุณต้องการสมัครงานคือ ลูกค้าเป้าหมายของคุณ โดยมีสินค้าคู่แข่งเป็นผู้สมัครรายอื่นๆ ที่สมัครงานในตำแหน่งเดียวกับคุณ โจทย์มีอยู่ว่า คุณจะทำอย่างไรให้ลูกค้าซื้อสินค้า หรือทำอย่างไรให้บริษัทเลือกคุณเข้าร่วมการสัมภาษณ์งาน และถึงแม้ว่าคุณจะเป็นคนไอทีที่อาจมีความรู้ด้านการตลาดเพียงน้อยนิด แต่เทคนิคนี้ง่ายและไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คุณคิด
- ข้อแรก คุณต้องรู้ว่า บริษัทส่วนใหญ่จะค้นหาและคัดกรองเรซูเม่โดยใช้คีย์เวิร์คจากระบบฐานข้อมูลในระบบออนไลน์ ดังนั้น ในเรซูเม่ของคุณจึงต้องมีคีย์เวิร์คที่ตรงกันเพื่อให้ง่ายต่อการที่บริษัทจะค้นหาคุณเจอ
คำถามคือ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าบริษัทเหล่านั้นใช้คีย์เวิร์คอะไรในการค้นหา
คำตอบคือ คีย์เวิร์คเหล่านั้น ได้แก่ ชื่อตำแหน่ง, ทักษะด้านไอที และทักษะเฉพาะอื่นๆ เช่น การสื่อสาร, การทำงานเป็นทีม, การแก้ปัญหา รวมถึงคำศัพท์เทคนิคที่ใช้ในกลุ่มธุรกิจนั้นๆ ดังนั้นสิ่งที่คุณต้องทำคือ ปรินท์ประกาศรับสมัครงานของทุกบริษัทที่คุณต้องการสมัคร และใช้คีย์เวิร์ดที่มีอยู่บนประกาศงานนั้นมาเขียนเรซูเม่ของคุณเอง
- ข้อที่สอง คุณจำเป็นต้องหาข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจที่คุณต้องการทำงาน และตั้งคำถามกับตัวเอง 2 ข้อ ข้อแรก คุณสามารถสร้างผลงานอะไรให้กับบริษัทได้บ้าง ข้อที่ 2 ถ้าคุณเป็นนายจ้าง พนักงานแบบไหนที่คุณกำลังมองหา เชื่อมโยงทักษะที่คุณมีกับสิ่งที่นายจ้างต้องการ และไม่ว่าคุณจะสมัครงานที่ไหน คุณจำเป็นต้องปรับปรุงข้อมูลในเรซูเม่ให้ตรงกับงานและองค์กรที่คุณสมัครทุกครั้ง
- ข้อสุดท้าย เลือกรูปแบบและขนาดตัวอักษรที่อ่านง่าย ดูเป็นระเบียบ เนื้อหาในเรซูเม่ต้องประกอบด้วยหัวข้อที่ครบถ้วนและเรียงลำดับตามความสำคัญ ดังนี้
- ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลการติดต่อ (ชื่อ-นามสกุล, วัน-เดือน-ปีเกิด, อีเมล์, เบอร์ติดต่อ, ที่อยู่)
- วัตถุประสงค์การสมัครงาน หรือจุดเด่นเกี่ยวกับตัวคุณโดยย่อ (Objectives & Summary)
- ประสบการณ์ทำงาน
- ประวัติการศึกษา, การฝึกอบรมหรือสัมมนาที่เคยเข้าร่วม
- ทักษะต่างๆ เช่น ด้านไอที, ภาษาคอมพิวเตอร์, ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร, ทักษะอื่นที่เกี่ยวข้อง
- เงินเดือนคาดหวัง
- บุคคลอ้างอิง
ลองสวมบทบาทเป็นนายจ้างและอ่านเรซูเม่ของคุณเองอีกครั้ง คุณรู้สึกว่าอยากเรียกผู้สมัครคนนั้นมาสัมภาษณ์หรือไม่? หากคำตอบคือ ไม่ หรือ ยังไม่แน่ใจ ลองกลับไปทบทวนดูอีกครั้งว่า ในเรซูเม่ที่คุณขาดสิ่งใดบ้างที่กล่าวมาข้างต้นนี้