#1 tech recruiter in thailand

“เซ็นสัญญาจ้าง” แล้ว แต่ “ไม่อยากไป” จะทำอย่างไรดี

สำหรับคนไอทีบางท่าน อาจจะเคยได้ยินหรือเจอกับตัวเอง เรื่องรู้สึกเปลี่ยนใจไม่อยากทำงานกับที่ทำงานนั้น ทั้งที่เซ็นสัญญาจ้างไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุหรือปัจจัยใดก็ตาม เมื่อเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นแล้วก็บอกได้เลยว่า มีปัญหาอย่างแน่นอน และส่งผลกระทบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับ HR และหัวหน้างานของที่ทำงานนั้น วันนี้ทีมงาน ISM มีข้อแนะนำดีๆ รวมทั้งข้อเตือนใจมาบอกกันครับ เผื่อจะช่วยให้ปัญหามันทุเลาเบาบางลง

1. วิเคราะห์สาเหตุในการปฏิเสธให้ชัดเจนและแน่ใจ

แน่นอนว่า การที่ผู้สมัครเกิดลังเลใจหลังจากเซ็นสัญญาจ้างไปแล้ว มันต้องมีปัจจัยที่ทำให้รู้สึกว่าไม่อยากทำงานที่นั่นแล้ว อย่างคนไอทีเองก็อาจจะมีสาเหตุ เช่น ไปทำในธุรกิจที่ไม่คุ้นเคย, ต้องไปทำในบทบาทที่หนักขึ้น เป็นหัวหน้าคุมลูกน้องเยอะๆ หรือต้อง Code ภาษาที่ไม่เคยใช้มาก่อน เลยทำให้เกิดความไม่มั่นใจขึ้นมา, ได้รับ Offer จากที่ทำงานเก่า รวมทั้ง อาจได้งานใหม่ที่ดีกว่า (ผลตอบแทน การเดินทาง โอกาสก้าวหน้า) เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ผู้สมัครงานต้องคิดให้รอบคอบ คิดให้ถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินใจทำอะไรลงไป เพราะมันเกิดผลกระทบกับหลายฝ่ายด้วยแน่ๆ

2. ตรวจสอบเงื่อนไขในสัญญาจ้างงาน

ในสัญญาจ้างงานที่คุณไปเซ็นมา จะมีข้อกำหนด เงื่อนไขต่างๆ ซึ่งคุณเองในฐานะผู้เซ็นต้องอ่านให้ละเอียด เพื่อทำความเข้าใจและดูว่า มีเงื่อนไขใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับในกรณีที่ เซ็นสัญญาจ้างงาน แล้วไม่มาทำงาน เพราะในบางบริษัทมีการระบุว่า กรณีแบบนี้ถือว่า ทำให้องค์กรเกิดความเสียหาย ทั้งเรื่อง เวลา งบประมาณ และโอกาสที่จะได้ผู้สมัครที่คุณสมบัติดีหรือใกล้เคียงกันมาทำงาน ทำให้ HR ต้องกลับไปเริ่ม Process ใหม่ทั้งหมด ซึ่งสัญญากำหนดให้ผู้สมัครต้องจ่ายชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่าไร ก็ว่ากันไปแล้วแต่นโยบายแต่ละที่ ถ้าเจอแบบนี้คุณอาจจะต้องระมัดระวังในการที่จะทำอะไรลงไป เพราะคุณได้เซ็นรับทราบเองทั้งหมดแล้ว แต่โดยส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีบริษัทไหนฟ้องร้องผู้สมัครเพราะเหตุผลนี้หรอก เพียงแต่อยากให้บอกกันตรงๆ และอยากให้บอกกันเนิ่นๆ หน่อยเท่านั้นเอง

3. รีบแจ้ง HR/ว่าที่หัวหน้างาน ของที่ทำงานใหม่ให้ทราบโดยด่วน

นี่คือสิ่งที่คุณควร “ต้องทำ” และ “ควรทำให้รวดเร็วที่สุด” เมื่อคุณตัดสินใจแล้วว่า จะไม่ไปร่วมงานกับที่ทำงานใหม่ อย่างแน่นอน เพราะ HR หรือว่าที่หัวหน้าคุณ เขาจะได้รีบจัดการแก้ไขปัญหาจากการที่คุณไม่มาทำงาน ถ้าโชคดีบริษัทเขาก็ได้คนอื่นมาทดแทนคุณได้รวดเร็ว แต่ถ้าโชคร้าย HR เขาก็ต้องไปเริ่ม Process ใหม่ ต้องไปลงประกาศใหม่ ต้องสัมภาษณ์ใหม่ อาจจะ 1-2 รอบ ต้องรอเวลาผู้สมัครคนนั้นลาออกจากที่เก่าก่อน นั้นหมายถึง อาจจะกินระยะเวลาไปไม่ต่ำกว่า 1 เดือนแน่นอน และอีกอย่างหนึ่งตัวคุณเองก็จะได้ไม่ค้างคาใจ รวมทั้งเป็นการแสดงถึงความเป็นมืออาชีพ ที่ยังโทร.มาแจ้ง ไม่ใช่หายไปเฉยๆ

ข้อเตือนใจว่า “อย่าทำแบบนี้”

1. หายไปเฉยๆ / ติดต่อไม่ได้

ผู้สมัครบางคนหลังจากเซ็นสัญญาจ้างแล้ว หายไปเฉยๆ ไม่แจ้งบริษัท ไม่บอกใคร โทร.ติดต่อกลับไปก็ไม่ได้ แบบนี้ แสดงให้เห็นถึงความไม่รับผิดชอบของคุณ ซึ่งสิ่งนี้มันจะติดตัวคุณไปตลอด

2. มาแจ้งเอาตอนวินาทีสุดท้าย/กระชั้นชิด

การที่มาแจ้ง HR เอาในวินาทีสุดท้าย เช่น แจ้งปฏิเสธงานก่อนเริ่มงาน 1-2 วันหรือแจ้งเอาตอนเช้าวันที่จะเริ่มงานจริง แบบนี้ก็ไม่เหมาะสมเช่นกัน ลองคิดดูว่า HR เขาจะหาใครมาแทนคุณได้ทันล่ะ จริงไหมครับ

บทความนี้ไม่ได้ต้องการนำเสนอว่า ใครผิดหรือถูก เพียงแต่ในเรื่องการทำงานนั้น อยากให้ผู้สมัครทั้งหลายมองว่า ทุกเรื่อง ทุก Process มันเกี่ยวเนื่องกันไปหมดกับหลายๆ ฝ่าย การที่ผู้สมัครไม่สะดวกใจที่จะทำงานที่นั่นแล้ว ก็คงไม่มีนายจ้างที่ไหนอยากจะรั้งไว้หรอกครับ เพราะรั้งไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่สิ่งที่ผู้สมัครควรทำคือ ช่วยให้ HR เขาได้มีเวลาหาคนมาทดแทนคุณได้ทัน หรือหากไม่ทัน ก็จะได้ไม่เกินกำหนดไปมากจนเกินไป

ISM Technology Recruitment Ltd. (#1 Tech Recruiter in Thailand) บริษัทเราเชี่ยวชาญในธุรกิจ IT Recruitment & IT Outsourcing โดยเฉพาะ เปิดทำการย่างเข้าสู่ปีที่ 27 มีพนักงานทุกสายและทุกระดับทางด้าน IT ที่ได้ร่วมงานกับลูกค้าองค์กรใหญ่ที่มีชื่อเสียงและบริษัทข้ามชาติมากมาย หากคุณเป็นคน IT ที่อยากทำงานที่ท้าทายและร่วมงานกับองค์กรชั้นนำ ฝากประวัติการทำงาน (Resume) ของคุณไว้กับ ISM ได้ที่ https://www.ismtech.net/submit-your-resume แล้วคุณจะพบว่าอนาคตและโอกาสก้าวหน้ามากมายกำลังรอคุณอยู่

en