#1 tech recruiter in thailand

“7 สัญญาณ” ของคนไอที ที่เกิดภาวะ “Occupational Burnout”

สำหรับชาวไอทีโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานมานานหลายปีแล้ว เคยได้สังเกตว่า ตัวเราเองหรือเพื่อนร่วมงานบางคน(หรือหลายๆคน) มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมบ้างไหม เช่น เคยสนุกสนานร่าเริง ก็กลับมีอาการเฉื่อยชา ไม่รู้สึก “Active” เหมือนแต่ก่อน เริ่มคิดแต่ว่าเมื่อไรจะเลิกงาน ไม่อยากเจอคนในที่ทำงาน เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ ถือว่ามีแนวโน้มอยู่ใน “ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Occupational Burnout” ลองมาเช็คสัญญาณที่จะบ่งบอกถึงแนวโน้ม ภาวะหมดไฟในการทำงาน กันดีกว่า เพราะหากทิ้งไว้นาน มันจะกระทบทั้งชีวิต ความสัมพันธ์กับผู้อื่น และการงานก็ได้

1. รู้สึกเหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลียกายอ่อนล้าใจ

คุณจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับงานที่ทำ อ่อนเพลียอ่อนล้ามากกว่าที่ควรจะเป็น จากที่เคยนั่ง Coding โปรแกรมได้ทั้งวัน อาจจะเหลือแค่ 2-3 ชม. ก็ไม่ไหวแล้ว อาการแบบนี้ถือว่าเป็นอาการแรกๆ และเห็นได้ชัดเจน ของคนที่กำลังอยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน

2. มองโลกแง่ลบ อารมณ์ร้าย

พอคุณรู้สึกเหนื่อย อ่อนล้า คุณก็จะเริ่มไม่ค่อยแคร์ใครหรืออะไรที่อยู่รอบข้าง พอ User หรือเพื่อนร่วมงาน มาตามงานของคุณ คุณอาจจะรู้สึกหงุดหงิด รำคาญ อาจเผลอไปใส่อารมณ์ตอบโต้เพื่อนร่วมงานของคุณเข้า ถ้าหนักหน่อยก็จะพาลคิดลบกับทั้งงานและเพื่อนร่วมงานของคุณ

3. เริ่มมีปัญหากับบุคคลรอบข้าง

พอคุณอารมณ์ร้ายใส่คนอื่นบ่อยครั้งเข้า ก็ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของคุณกับเพื่อนร่วมงาน (อาจพาลมาถึงคนในครอบครัวด้วย) นั้นแย่ลงไป โดยเฉพาะหากคุณมีปัญหากับหัวหน้าของคุณด้วยแล้ว ลองคิดดูว่า เรื่องมันอาจจะใหญ่กว่าที่คุณคาดคิดก็ได้

4. ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

เป็นที่แน่นอน เมื่อร่างกายและจิตใจคุณไม่พร้อม แถมมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานอีก แล้วคุณจะเอาสติปัญหาที่ไหนมา คิด Process ออกว่า Coding แบบนี้แล้ว Result ที่ออกมาจะตรงไหม คุณอาจไม่ได้คิดป้องกันกรณีเกิด Bug จาก User Error หรือจากปัจจัยอื่นๆ แบบนี้พอส่งต่องานให้ User หรือทีม Testing สุดท้ายงานคุณก็ถูกตีกลับมา และเสียเวลาแก้ไขใหม่ กลายเป็นยิ่งทำงานซ้ำซ้อนขึ้นไปอีก

5. รู้สึกยุ่ง แม้ไม่ได้อยู่ที่ทำงาน

ด้วยความที่คุณคิดลบและ รู้สึกไม่ดี เบื่อหน่ายในงานที่ทำอยู่ คุณก็จะคิดหมกมุ่นอยู่กับมันตลอดเวลา ถึงแม้คุณกลับถึงบ้านแล้ว แต่จิตใจคุณก็ยังนึกถึงเรื่องลบๆ เกี่ยวกับงานที่มันอาจค้างคาอยู, Module ที่ Tester เจอ Bug ตัวเบ้อเร่อ หรือ User ที่โทร.มาติเตียนคุณที่ทำพลาด สิ่งเหล่านี้มันยังวนเวียนอยู่ในหัวคุณตลอดเวลา ทำให้คุณรู้สึกว่า ขนาดอยู่บ้านก็ยังต้องคิดเรื่องงานอยู่ ทำไมงานถึงได้ยุ่งมากมายขนาดนี้

6. ไม่อยากพัฒนาตัวเอง ไร้เป้าหมาย

พอคุณไม่ Happy กับทั้งงาน ทั้งเพื่อนร่วมงาน แถมยังเจอปัญหามากมายสารพัด คุณก็จะไม่มีความสุข เริ่มไม่อยากหาทางแก้ไขปัญหา ไม่อยากเรียนรู้ ไม่อยากพัฒนาตนเอง จนทำให้คุณไร้เป้าหมายในการทำงานแต่ละวัน กระทบไปถึงภาพรวมของงานทั้งหมดของคุณ ส่วนเรื่องที่จะไป สอบ Cert. , เข้าคอร์สอบรมด้าน IT หรือ ศึกษาภาษาคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ เพื่อที่จะก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานของคุณ ก็คงไม่ต้องคิด เพราะคุณเลิกใส่ใจกับมันไปแล้ว

7. รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า

สิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อคุณอยู่ในภาวะนี้สะสมเป็นเวลานาน คุณจะเกิดความรู้สึกว่า ตนเองนั้นไร้ค่า เพราะ ทำอะไรก็ไม่ดีสักอย่าง เพื่อนร่วมงาน ก็ไม่อยากสุงสิงกับคุณ หัวหน้างาน ก็ไม่โปรโมทตำแหน่งให้ แล้วมันจะมีความหมายอะไร ที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ หากเกิดภาวะหมดไฟสะสมต่อเนื่องอย่างยาวนานแล้ว คุณอาจเป็น “โรคซึมเศร้า” ไปเลยก็ได้ และที่น่ากลัวที่สุดคือ คุณอาจจะทำถึงขั้น “ฆ่าตัวตาย” เลยก็ได้ เพราะ ไม่สามารถทนแบกรับความรู้สึกแย่ๆ แบบนี้ได้อีกต่อไป

เห็นหรือยังว่า หากคุณไม่หมั่นสังเกตตัวเอง ว่ากำลังอยู่ในภาวะใดแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมามันจะเลวร้ายแค่ไหน อันที่จริงแม้คุณจะมีอาการตรงกับสัญญาณเหล่านี้อยู่บ้าง ก็ไม่ต้องกังวลอะไรมากนัก เพราะ คนทำงานหลายๆ คน ก็ล้วนเคยรู้สึกหมดไฟในการทำงานกันมาบ้างแล้ว และมักจะเกิดแค่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น สำหรับวิธีการลดหรือแก้ไข ภาวะหมดไฟในการทำงาน นั้น ทางทีมงาน ISM จะนำเสนอในบทความครั้งถัดไป

ISM Technology Recruitment Ltd. (#1 Tech Recruiter in Thailand) บริษัทเราเชี่ยวชาญในธุรกิจ IT Recruitment & IT Outsourcing โดยเฉพาะ เปิดทำการย่างเข้าสู่ปีที่ 27 มีพนักงานทุกสายและทุกระดับทางด้าน IT ที่ได้ร่วมงานกับลูกค้าองค์กรใหญ่ที่มีชื่อเสียงและบริษัทข้ามชาติมากมาย หากคุณเป็นคน IT ที่อยากทำงานที่ท้าทายและร่วมงานกับองค์กรชั้นนำ ฝากประวัติการทำงาน (Resume) ของคุณไว้กับ ISM ได้ที่ https://www.ismtech.net/submit-your-resume แล้วคุณจะพบว่าอนาคตและโอกาสก้าวหน้ามากมายกำลังรอคุณอยู่

enen